การดูแลรักษาเนื้อไม้ด้วยโซเดียมซิลิเกต

 

ในปัจจุบันมูลค่าของไม้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างภายในบ้าน หรืออาคาร ไม่ว่าจะเป็นส่วนประกอบของหลังคา ตัวบ้าน พื้น หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ และบรรจุภัณฑ์ ก็จะพบว่าทำจากไม้เป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลในอนาคตคือการผลิตไม้แปรรูปอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ดังนั้นจึงควรใช้ประโยชน์จากไม้เหล่านี้ให้คุ้มค่าและยาวนานมากที่สุด

การนำไม้มาอาบน้ำยาไม้เป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอุตสาหกรรมไม้แปรรูป และมีการพัฒนาอยู่เรื่อยๆ เนื่องจากสามารถเพิ่มความแข็งแรงคงทน ยืดอายุการใช้งานให้แก่ไม้แปรรูปเหล่านี้ได้ การใช้น้ำยารักษาเนื้อไม้เป็นการใส่สารเคมีเข้าไปในไม้ ด้วยกรรมวิธีต่าง ๆ เพื่อป้องกันการผุพังจากสภาพอากาศ  และความเสียหายอันเกิดจากแมลงกินไม้ตลอดจนเชื้อราต่าง ๆ โดยใช้สารประเภทกำจัดเชื้อราและกำจัดแมลงทำให้ ช่วยยืดอายุการใช้งานของไม้ออกไปอีกหลายสิบเท่าตัว ข้อสำคัญของการอาบน้ำยาไม้ คือ จะต้องเลือกใช้ที่เหมาะสมกับลักษณะการใช้งานหรือเหมาะสมกับชั้นคุณภาพงานที่ต้องการ ในการอาบน้ำยาไม้นั้นมีการใช้สารเคมีชนิดต่างๆ เช่น  ACQ (Ammoniacal Copper Quaternary), Tanalith E (Copper azole), CCA (Copper Chromium Arsenic นิยมใช้มากในประเทศไทย), พวกน้ำมัน เช่น ครีโอโสต  และพวกเกลือละลายน้ำ เช่น เกลือของสารหนู ทองแดง เป็นต้น ต่อมาได้มีผู้ทดลองทำการอาบน้ำยาไม้โดยใช้โซเดียมซิลิเกต การทดลองนี้เป็นประโยชน์อย่างมาก เนื่องจากสารละลายโซเดียมซิลิเกตก็เป็นน้ำยาอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูง เมื่อนำมาใช้ในกระบวนการอาบน้ำยาไม้ เพื่อนำไปใช้ในงานก่อสร้าง ในขณะนี้ค่อนข้างแพร่หลายในต่างประเทศ จากการศึกษาข้อมูลพบว่า บริษัทที่จำหน่ายไม้ที่ผ่านการชุบโซเดียมซิลิเกต ได้แก่ บริษัท TimberSIL® Products เป็นต้น

แผนกวิจัยและพัฒนาเล็งเห็นว่า การนำโซเดียมซิลิเกตมาใช้ประโยชน์ในด้านการดูแล และรักษาเนื้อไม้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำโซเดียมซิลิเกต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท ช เคมีไทย จำกัด ไปใช้งานเป็นการขยายตลาดในด้านอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับไม้แปรรูป จึงเสนอโครงการการดูแลรักษาเนื้อไม้ด้วยโซเดียมซิลิเกต เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของเนื้อไม้หลังการอาบด้วยโซเดียมซิลิเกต และนำเสนอสู่ตลาดอุตสาหกรรมไม้แปรรูปต่อไป

การเตรียมไม้ก่อนอาบน้ำยา

ไม้โตเร็วที่จะนำมาอาบน้ำยาส่วนใหญ่มีอยู่ด้วยกัน 2 พวก แบ่งตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้งานดังนี้

  1. ไม้ท่อนกลมใช้ทำไม้เสาต่างๆ เช่น เสาบ้าน เสารั้ว เสาคอกสัตว์ เตรียมดังนี้
  • ไม้สด ไม้ท่อนกลมสดก่อนอาบน้ำยาต้องริดกิ่งก้านและตัดทอนให้ได้ขนาดความยาวตามต้องการ
  • ไม้แห้ง ไม้ท่อนกลมแห้งที่ริดกิ่งก้านและตัดท่อนได้ขนาดตามต้องการแล้วต้องทำการลอกเปลือกออกให้หมด
  1. ไม้แปรรูป ก่อนนำไม้แปรรูปไปอาบน้ำยาจะต้องการไส ตบแต่งและตัดท่อนให้ได้ขนาดตามต้องการ

และนำไม้กองผึ่งให้ไม้แห้งเสียก่อน

 

วิธีการอาบน้ำยาไม้

การอาบน้ำยาทำให้ไม้มีประสิทธิภาพในด้านความทนทาน แข็งแรงให้แก่เนื้อไม้ สารละลายโซเดียมซิลิเกตที่นำมาใช้เป็นน้ำยาอาบเนื้อไม้นั้นปริมาณที่อาบอาจบังคับให้มากน้อยตามความจำเป็น และตามสภาพที่จะนำไป ใช้งาน โดยวิธี ทา จุ่ม แช่  หรืออัดน้ำยาเข้าไปด้วยแรงอัดสูง

สำหรับการอาบน้ำยาไม้ที่ได้ประสิทธิภาพดีที่สุด คือ การอัดน้ำยาโดยใช้แรงดัน ทำได้โดยแช่ไม้ลงในสารละลายโซเดียมซิลิเกต 400 กรัม/กิโลกรัมโซเดียมซิลิเกต ภายใต้ความดันประมาณ 7 bars เป็นเวลา 24 ชั่วโมง จากนั้นนำไปอบด้วยอุณหภูมิ 120 °F หรือประมาณ 44.44°C เป็นเวลา 7 วัน หรือจนกว่าเนื้อไม้จะแห้ง แล้วจึงนำไปใช้งานตามปกติ

ประโยชน์ของการอาบน้ำยาไม้

  1. ป้องกัน มอด ปลวก เห็ด และเชื้อรา ในเนื้อไม้
  2. ไม่เป็นเชื้อเพลิง เพราะติดไฟยาก/ชะลอการเผาไหม้
  3. ไม่มีกลิ่นเหม็น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  4. ไม่ยืดหด เหมาะสำหรับใช้ เป็นโครงสร้าง เช่น โครงเพดาน โครงหลังคา เพราะทรงตัวดีอยู่ในสภาพเรียบร้อย
  5. ไม่เป็นสื่อไฟฟ้า
  6. เพิ่มความทนทานแข็งแรง อายุการใช้งานยาวนานขึ้น
  7. ช่วยประหยัดเวลา แรงงาน และเงิน ในการที่จะต้องซ่อมแซมหรือเปลี่ยนไม้บ่อย ๆ
  8. ไม่ทำปฏิกิริยากับสี ทำให้สีสดใส และติดทนนาน

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

การอาบน้ำยาป้องกันรักษาไม้อย่างง่ายๆ

ไม้โตเร็วและไม้ขนาดเล็กที่นำมาใช้ประโยชน์โดยทั่งไปในชนบทปัจจุบัน มักมีความทนทานต่อศัตรูทำลายไม้ต่างกัน ก่อนที่จะนำไม้ไปใช้ประโยชน์ควรจะทำให้ไม้นั้นมีความทนทานมากขึ้น โดยเลือกใช้กรรมวิธีต่างๆ ดังต่อไปนี้

  1. การทาหรือพ่น เป็นการอบน้ำยาไม้ที่ผ่านการผึ่งหรืออบแห้งมาแล้ว ถ้าเป็นไม้เสารั้วหรือเสาบ้านควรลอกเปลือกออกก่อน การทาหรือการพ่นอาจทำตลอดทั้งท่อนหรือเฉพาะส่วนที่อยู่คอดิน ( ลึกลงไปในดิน 30-40 ซม. และอยู่พื้นดิน 60-70 ซม.) ก็ได้ การทาหรือพ้นนี้ควรกระทำมากกว่า 1 ครั้ง เพื่อให้ตัวยาแทรกซึมได้ทั่วผิวไม้ ยาที่ใช้ควรเป็นยาพวกน้ำมันหรือสารเคมีละลายในน้ำมัน เช่น น้ำมันดิน โซลิกนั่ม หรือน้ำมันทาไม้ต่างๆ ซึ่งจะติดทนในไม้ได้ดี
  2. การแช่ไม้ในน้ำยา เป็นการอบน้ำยาไม้ที่ใช้ได้กับไม้สดหรือไม้แห้ง แต่การอาบไม้แห้งจะได้ผลดีกว่าวิธีนี้ใช้ได้กับทั้งไม้ท่อนกลมและไม้แปรรูป ถ้าเป็นไม้ท่อนกลมต้องทำการลอกเปลือกออกก่อน การแช่ต้องให้ไม้จมอยู่ใต้น้ำยาตลอดเวลา ระยะเวลาการแช่ประมาณ 12 – 24 ชั่วโมง หรือ 2-3 วัน ก็ได้แล้วแต่ชนิดไม้ ยิ่งแช่นานเท่าไรตัวยาก็จะซึมเข้าไปในไม้ได้มากขึ้นเท่านั้น เมื่อแช่เสร็จแล้วก่อนนำไปใช้ประโยชน ์ต้องกองผึ่งไม้ให้แห้งเสียก่อนไม่น้อยกว่า 7 วัน ตัวยาที่ใช้ควรจะเป็นพวกสารเคมีที่ละลายในน้ำ สำหรับภาชนะที่ใช้แช่ถ้าไม้มีขนาดยาวมากอาจจะใช้ถัง 200 ลิตร ผ่าครึ่งแล้วต่อเชื่อมเข้าด้วยกัน แต่ถ้าไม้ยาวมากกว่านี้อาจขุดดินเป็นบ่อ ตามขนาดที่ต้องการแล้วปูลาดพื้นด้วยพลาสติกกันน้ำยารั่วซึม
  3. การอาบน้ำยาโดยอาศัยแรงดันจากแรงโน้มถ่วงของโลก เป็นการอาบน้ำยาไม้ท่อนกลมสดที่ตัดมาใหม่ๆ ทั้งเปลือก โดยนำยางในรถยนต์เก่าที่ใช้แล้วตัดออกสวมเข้ากับส่วนโคนไม้เสา รัดด้วยลวดหรือแผ่นเหล็กบางๆ หรือเชือก หรือยางให้แน่นกันน้ำยารั่วไหล จากนั้นเทสารเคมีผสมแล้วลงไปในท่อยางในรถยนต์ให้เต็ม แล้วยกให้ไม้และท่อยางให้สูงขึ้นจากระดับพื้นดิน โดยให้ส่วนปลายไม้ทำมุมประมาณ 45 กับพื้นดิน น้ำหนักของสารเคมีและการระเหยของน้ำเลี้ยงในไม้ จะช่วยให้น้ำยาแทรกซึมเข้าไปในเนื้อไม้ เราจะทราบได้ว่าน้ำยาแทรกซึมเข้าไปตลอดท่อนหรือยัง โดยสังเกตจากน้ำที่หยดออกมาทางปลายด้านล่างของไม้ ซึ่งในระยะแรกจะเป็นน้ำเลี้ยงในไม้ซึ่งไม่มีสี เมื่อน้ำยาซึมผ่านตลอดท่อนแล้ว น้ำที่หยดทางปลายท่อนจะเปลี่ยนไปเป็นสีของน้ำยา แสดงว่าน้ำยาได้ซึมเข้ามาในไม้ตลอดทั้งท่อนแล้ว สามารถถอดยางที่มัดไว้ที่ปลายด้านบนออกได้ แล้วนำไม้ที่ผึ่งให้แห้งก่อนนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ไม้ที่ผ่านการอาบน้ำยาแบบนี้คือ สารเคมีจำพวกที่ละลายน้ำ เช่น ซีซีเอ คอปเปอร์ซัลเฟต

การทำงานของเครื่องอัดน้ำยา

  1. นำไม้เข้าสู่ถังกระบอกอัดน้ำยา (Cylinder)
  2. ใช้เครื่องสุญญากาศ (Vacuum Pump) ดูดอากาศออกจากถัง
  3. กระบอกอัดน้ำจุดประสงค์เพื่อจะดูดน้ำออกจากเซลล์ของไม้ และเติมน้ำยาที่มีส่วนผสมของสารเคมีเข้าสู่กระบอกอัดน้ำยาให้เต็ม
  4. ใช้เครื่องอัด (Pressure Pump) ทำการอัดน้ำยาเข้าสู่เนื้อไม้ให้ถึงเซลล์ของไม้โดยใช้แรงอัดที่ถูกกำหนดขึ้นตามความต้องการ
  5. ปล่อยน้ำยาออกจากกระบอกอัดน้ำยาและมีการดูดอากาศออกด้วยแรงดูดอากาศที่ต่ำ
  6. ใช้แรงดันอัดอากาศจากภายนอกเข้าสู่เนื้อไม้

 

ภาพจำลองเครื่องอัดน้ำยาไม้ให้มีความคงทนและปราศจากศัตรูไม้

รายชื่อบริษัทที่มีการอาบน้ำยาไม้

  1. บริษัท เอกเจริญพงษ์ จำกัด
  2. บริษัท มานะค้าไม้
  3. บริษัท อารีย์อภิรักษ์ จำกัด
  4. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกียรติชัยวัสดุก่อสร้าง
  5. โรงเลื่อยไม้กระยาเลย 1
  6. บริษัท แอล.พี.เอส.วู๊ดเดิ้นเวิร์ค จำกัด
  7. บริษัท ยูนิเวอร์แซล พาราวูด จำกัด
  8. ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญรุ่งเรืองพาเลท
  9. ห้างหุ้นส่วนจำกัด งานทวีทรัพย์ พาราวู้ด
  10. บริษัท เอเวอร์กรีน พาราวู้ด จำกัด
  11. ห้างหุ้นส่วนจำกัด โค้วน่ำฮึงสุไหงโกลก

 

 

 

สนใจผลิตภัณฑ์หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

ติดต่อเรา
logo