การกัดกร่อนของโลหะ เป็นกระบวนการทางไฟฟ้าเคมี ซึ่งทำให้วัสดุที่มีโลหะเป็นองค์ประกอบเปลี่ยนเป็นโลหะออกไซต์ หรือโลหะไออน ส่งผลให้วัสดุเสื่อมสภาพ การกัดกกร่อนอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยหนึ่งที่พบได้มาก คือ ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม ได้แก่ ออกซิเจน และความชื้น การควบคุม หรือป้องกันการกัดกร่อน มีหลากหลายวิธี เช่น การเลือกใช้วัสดุที่เหมาะสมการใช้สารยับยั้งการกัดกร่อน การทาสี หรือเคลือบวัสดุ การออกแบบ การหลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่ก่อให้เกิดการกัดกร่อน และการควบคุมแบบแคโทด เป็นต้น ซึ่งพบว่าสารละลายโซเดียมซิลิเกตเป็นสารเคมีที่ราคาไม่แพง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีประสิทธิภาพ ป้องกันการกัดกร่อน โดยถูกจัดเป็นสารยับยั้งการกัดกร่อน เนื่องจากสามารถเคลือบเป็นฟิล์มบนพื้นผิวโลหะได้ ช่วยป้องกันการกัดกร่อนได้ และยังช่วยเพิ่ม pH ของน้ำ ทำให้เกิดการกัดก่อนได้น้อยลง นอกจากนี้ยังพบว่าการใช้สารละลายโซเดียมซิลิเกตเป็นสารยับยั้งการกัดกร่อน มีประสิทธิภาพทั้งการใช้กับน้ำที่มีสภาวะเป็นกรด และด่าง ในกรณีที่เป็นน้ำกระด้างต้องเพิ่มปริมาณซิลิเกต เนื่องจากซิลิเกตอาจทำปฏิกิริยากับไอออนของความกระด้างที่มีในน้ำ ก่อนจะเกิดพันธะเกาะที่ผิวโลหะ
สารละลายโซเดียมซิลิเกตถูกนำมาใช้ในการควบคุมการกัดกร่อนในระบบท่อจ่ายไปใช้ในแหล่งต่าางๆ เช่น เทศบาล โรงงานอุตสาหกรรม โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานสิ่งทอ หน่วยงานเอกชน อพาร์ตเมนต์ และอาคารสำนักงาน ด้วยคุณสมบัติที่ช่วยในการยับยั้งการกัดกร่อนนี้เอง ทำให้สารละลายโซเดียมซิลิเกตเป็นส่วนประกอบสำคัญในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น น้ำยาหล่อเย็นสำหรับรถยนต์ และน้ำยาซักผ้า ชนิดของโลหะที่สามารถใช้สารละลายซิลิเกตป้องกันการกัดกร่อนได้ เช่น Lead, Copper, Cast Iron and Ferrous Metals, Steel, Galvanized Steel, Bronze, Red Brass, Yellow Brass และ Nickel Alloys โดยประสิทธิภาพในการยับยั้งการกัดกร่อนอาจแตกต่างกันออกไปตามชนิดโลหะ
ที่มา:
[1] ปทิตตา เทียนส่องใจ, โอบเอื้อ อิ่มวิทยา. (2545). สารยับยั้งการกัดกร่อน : Corrosion Inhibitors. วารสารกรมวิทยาศาสตร์, ปีที่ 50, ฉบับที่ 160, 21-23.
[2] PQ® Soluble Silicates: For Protection of Water Systems From Corrosion. The PQ Corporation.