การใช้โซเดียมซิลิเกตในกระบวนการรีไซเคิลกระดาษ

         กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองด้านสามารถนำกลับมาใช้อีกครั้งผ่านกระบวนการรีไซเคิล (recycling process) ซึ่งกระบวนการรีไซเคิลกระดาษ เริ่มตั้งแต่การรวบรวมกระดาษที่ใช้แล้ว แบ่งประเภทกระดาษ ย่อยกระดาษด้วยน้ำและสารเคมี เพื่อเปลี่ยนกระดาษเป็นเส้นใย (pulping) นำเส้นใยที่ได้ไปแยกสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น ที่เย็บกระดาษ เชือก และพลาสติก จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการฟอกสี เพื่อกำจัดหมึก แผ่นฟิล์ม กาว และคราบต่างๆ ทำให้เส้นใยมีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ในขั้นตอนสุดท้าย นำเส้นใยที่ได้เข้าสู่กระบวนการผลิตกระดาษ (papermaking process) เพื่อผลิตกระดาษสำหรับทำหนังสือพิมพ์ หนังสือ และนิตยสาร อย่างไรก็ตาม กระดาษที่ผ่านการรีไซเคิลแล้วจะมีความเรียบและความแข็งแรงลดลง เนื่องจากเส้นใยที่ได้จากกระดาษใช้แล้วสั้นกว่าเส้นใยที่ได้จากต้นไม้

         ในกระบวนรีไซเคิลกระดาษ โซเดียมซิลิเกตถูกใช้ในขั้นตอนการฟอกสี (bleaching) หรือการกำจัดหมึก (deinking) โดยทำหน้าที่ควบคุมความเป็นกรด-เบส เพิ่มเสถียรภาพของสารฟอกขาวหรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และป้องกันการขึ้นเหลืองของกระดาษ การฟอกสีกระดาษทำในอ่างผสมที่มีเส้นใยกระดาษและสารเคมีต่างๆ เช่น โซเดียมซิลิเกต ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และโซดาไฟ ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความบริสุทธิ์และความขาวของกระดาษ เนื่องจากโซเดียมซิลิเกตมีคุณสมบัติเป็นเบส จึงทำหน้าที่เป็นสารบัฟเฟอร์ควบคุมความเป็นกรด-เบสให้เหมาะสมต่อการกำจัดหมึก อีกทั้งตัวช่วยรักษาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ ทำให้ความสว่างของกระดาษเพิ่มขึ้น เมื่อใช้โซเดียมซิลิเกตในกระบวนการรีไซเคิลกระดาษจึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการกำจัดหมึกและทำให้กระดาษมีความสว่างเพิ่มขึ้น

 


ที่มา:

  1. McKinney, R. (Ed.). (1994). Technology of paper recycling. Springer Science & Business Media.
  2. Pauck, W. J. (2003). The role of sodium silicate in newsprint deinking (Doctoral dissertation).

Interested in products or ask for more information

Contact us
logo