การบำบัดน้ำเสียในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นกระบวนการที่สำคัญในการกำจัดสิ่งปนเปื้อนในน้ำที่มาจากกระบวนการผลิตโดยใช้วิธีต่างๆ เช่น การตกตะกอน การปรับสภาพกรด-เบส การย่อยสลายทางชีวภาพ และการใช้โอโซน เป็นต้น เพื่อให้ได้น้ำที่มีคุณภาพดีเพียงพอก่อนที่จะนำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตหรือปล่อยสู่ธรรมชาติ หนึ่งในวิธีลดความสกปรกของน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำคือการตกตะกอนโดยใช้สารเคมี (coagulation) การเติมสารเคมีที่เหมาะสมกับลักษณะของน้ำเสีย ทำให้ตะกอนขนาดเล็กที่แขวนลอยอยู่ในน้ำเกิดการรวมตัวเป็นตะกอนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจนสามารถตกตะกอนสู่ด้านล่างบ่อบำบัด
โซเดียมซิลิเกตสามารถใช้เป็นสารตกตะกอน (coagulant) ในการบำบัดน้ำเสีย เพื่อลดระดับโลหะหนักในน้ำ เช่น เหล็กโครเมียม ทองแดง สังกะสี และนิกเกิล เนื่องจากโลหะหนักเป็นสารแขวนลอยประจุบวกที่สามารถถูกดึงมารวมกับซิลิเกตที่เป็นประจุลบ เมื่อกวนสารละลายในบ่อบำบัด ทำให้เกิดการรวมตัวจนได้ตะกอนใหญ่ขึ้นและตกลงที่ด้านล่างบ่อบำบัด ซึ่งตะกอนโลหะหนักที่ได้ถูกเปลี่ยนเป็นสารที่ปราศจากอันตราย (nonhazardous waste) และง่ายต่อการกำจัดในภายหลัง นอกจากนี้โซเดียมซิลิเกตยังสามารถปรับสภาพน้ำเสียที่เป็นกรดให้เป็นกลางได้ (neutralization) เนื่องจากโซเดียมซิลิเกตมีคุณสมบัติเป็นเบส (pH ~ 11) โดยการเพิ่มค่า pH ของน้ำเสียที่เป็นกรดควรอยู่ในช่วง pH 5 – 9 เพื่อปล่อยสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ
ที่มา:
- คู่มือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระบบบำบัดน้ำเสียเบื้องต้นและการตรวจสอบระบบบำบัดน้ำเสียด้วยตนเอง. Retrieved 19 April 2021 http://cac.pcd.go.th/images/ptechResource/PublishDoc/2558-CAC_treatment/CAC_manual-58.pdf
- Aydın, A. A., and Aydın, A. (2014). Development of an immobilization process for heavy metal containing galvanic solid wastes by use of sodium silicate and sodium tetraborate. Journal of hazardous materials, 270, 35-44.